เหตุใด ‘เยอรมนี’ ถึงกลายเป็นโลโก้แห่ง ‘คุณภาพ’

บางครั้งการลอกเลียนในวิธีคิด กระบวนการของระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และบุคลากรจากบางประเทศที่มี ‘คุณภาพ’ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเสียศักดิ์ศรีอันใดนัก หากแต่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นผลผลิตทางธุรกิจและเศรษฐกิจแก่ห่วงโซ่ของประเทศที่ขอลักวิชาได้ไม่มากก็น้อย
พอพูดถึงประเทศที่มีคุณภาพในมิติต่างๆ ตอนนี้ชื่อของประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกา คงเป็นแคนดิเดตที่ใครๆ ก็อยากจะศึกษา แต่หากมองข้าม 2 ประเทศนี้ไป จะพบว่าประเทศที่มีคุณภาพทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและคนที่ถือเป็นแบบอย่างของใครก็ได้ในโลกแบบไม่ต้องคิดมาก คงต้องยกให้ ‘เยอรมนี’ เป็นสุดยอดแห่งประเทศที่อยากยกนิ้วให้
ลองหันไปดูทุกๆ ประเภทแบรนด์สินค้าของประเทศนี้ ต้องบอกว่าขึ้นชื่อเรื่องความล้ำ ความไฮเทค และสร้างมูลค่าให้กับประเทศเยอรมนีได้ทั้งนั้น
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่เริ่มต้นตั้งแต่การวางผังของประเทศ ให้เจริญโดยถ้วนทั่ว ไม่ได้พัฒนาให้เมืองใดเมืองหนึ่งเป็นจุดพีกจนเกินไป โดยทุกๆ เมืองจะมีแบรนด์ธุรกิจใหญ่ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในเมืองนั้นๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับบางเมือง ที่ปล่อยให้ความเจริญต่างๆ กระจุกอยู่แค่มุมใดมุมหนึ่งของประเทศ เช่น กรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวง มีคนอยู่ในเมืองเป็นสิบล้านคน ทุกอย่างต้องมารวมกันอยู่ที่นี่
ลองมาดูเมืองในเยอรมนีกันบ้างว่า เมืองไหนที่มีผลิตผลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาพรวมของเยอรมนีบ้าง
- Siemens เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในเมืองเบอร์ลิน
- NIVEA ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่ออกวางจำหน่ายทั่วโลก อยู่ในเมืองฮัมบูร์ก
- BMW Group ที่มีแบรนด์บริษัทรถยนต์ระดับโลก ได้แก่ BMW, Minicooper และ Rolls-Royce รวมถึง Allianz ผู้ผลิตธุรกิจหลักเกี่ยวกับประกันและจัดการกองทุน อยู่ในเมืองมิวนิก
- Deutsche Bank ธนาคารชั้นนำผู้ให้บริการทางด้านการเงินระดับโลก อยู่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt)
- Mercedes-Benz บริษัทผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกที่ผลิตทั้งรถยนต์ รถบัส รถบรรทุก มีบริษัท Daimler เป็นเจ้าของแบรนด์ อยู่ในเมืองสตุทท์การ์ท
- DHL บริษัทด้านขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก ในเมืองบอนน์
- Volkswagen Group ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลก มีแบรนด์รถยนต์ที่ตอบสนองต่อลูกค้าในหลายระดับ ทั้ง VW, SEAT, Audi, Skoda ไปจนถึงแบรนด์รถสปอร์ตและรถหรู Porsche, Lamborghini, Bentley, Bugatti แบรนด์รถบรรทุก Scania และมอเตอร์ไซค์ Ducati อยู่ในเมืองโวล์ฟสบวร์ก
- Adidas บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เป็นอันดับ 2 ของโลกที่รองจาก Nike ในเมืองแฮร์โซเกเนารัช (Herzogenaurach)
- SAP บริษัทซอฟต์แวร์ที่สร้างเพื่อทุกกลุ่มธุรกิจ ในเมืองวอลล์ดอร์ฟ (Walldorf)
ปัจจุบันประเทศเยอรมนี มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก เพราะการกระจายเศรษฐกิจไปสู่เมืองต่างๆ ส่งผลให้เกิดการสร้างงานที่เป็นระบบ และเป็นการพัฒนาตลาดแรงงานไปในตัว เพราะทุกเมืองต่างมีแบรนด์สินค้าดีๆ เป็นของตัวเอง แม้จะเป็นแบรนด์สินค้าที่แข่งกับตลาดโลก แต่อีกสถานะหนึ่งก็เหมือนเป็นการแข่งกันเองในประเทศด้วย
แน่นอนว่าพอพูดถึงการแข่งขันในประเทศแล้ว…ส่วนสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ‘เรื่องของคุณภาพคน’
…แล้วคุณภาพของคนเยอรมันเป็นอย่างไร
คนเยอรมัน มีเอกภาพในการทำงานสูง มีความมุ่งหวังและมุ่งมั่นในเป้าหมาย เพราะเป็นการแข่งขันเชิงยกระดับระหว่างคนในแต่ละเมือง ซึ่งแนวทางแบบนี้มักจะก่อให้เกิดการตกตะกอนเชิงนวัตกรรมใหม่ๆ และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างน่าตื่นเต้น
ทีนี้ถ้ามาลองสแกนดูวิถีชีวิตของคนเยอรมัน จะได้คำตอบทันทีว่าทำไม เศรษฐกิจของเขาถึงดี เพราะคนของเขามีวิธีการคิดและปฏิบัติอย่างมีคุณภาพ และน่าลอกเลียนแบบอย่างยิ่ง
1. เวลางานคือเวลาทำงาน
ในวัฒนธรรมการทำงานของชาวเยอรมัน พวกเขาจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากงาน การเล่น Facebook การนั่งเม้าธ์กัน การแวบไปเปิดเว็บโน่นนี่ระหว่างทำงานแทบจะไม่ใช่วิสัยของพวกเขาเลย
2. มุ่งเน้นเป้าหมาย สื่อสารโดยตรงเป็นสิ่งที่มีค่า
ในการทำธุรกิจแบบชาวเยอรมันจะมีการกำหนดเป้าหมายที่เข้มข้นมาก และมีการสื่อสารกันโดยตรงโดยไม่เกี่ยงว่าคนที่เราต้องสื่อสารด้วยจะมีตำแหน่งที่สูงหรือต่ำกว่าเรา
3. ชาวเยอรมันมีชีวิตนอกเหนือจากที่ทำงาน
ชาวเยอรมันเป็นชนชาติที่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ทำงานส่วนทำงาน เล่นส่วนเล่น” เพราะเมื่อไรก็ตามที่ชั่วโมงของการทำงานเริ่มต้นขึ้น พวกเขาจะไม่เอาเรื่องส่วนตัวเข้ามายุ่งเกี่ยวทันที และจะมุ่งเน้นไปที่ผลงานเป็นหลัก
แต่เมื่อเลิกงานไปแล้ว พวกเขาก็แยกย้ายกลับบ้านใครบ้านมัน หรือกลับกลุ่มเพื่อนสนิท แทบจะไม่มีการชวนกันไปเที่ยวหลังเลิกงานเป็นกลุ่มใหญ่ เนื่องจากพวกเขาแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันแบบชัดเจน
4. ชาวเยอรมันเคารพในสวัสดิการของลูกจ้าง
ประเทศเยอรมนีมีระบบสวัสดิการเพื่อลูกจ้างอย่างเข้มข้นมาก ยกตัวอย่าง ‘การเลี้ยงดูบุตร’ ลูกจ้างสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่วันที่บุตรเกิด จนถึงบุตรอายุสามปี การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรจะพิจารณาแยกสำหรับพ่อแม่ ฉะนั้นพ่อหรือแม่อาจจะลาในส่วนของตนเพียงลำพังหรืออาจลาพร้อมกันทั้งสองคนได้ ขณะเดียวกันยังมีเบี้ยเลี้ยงสำหรับดูแลบุตร บุตรสองคนแรก คนละ 184 ยูโร บุตรคนที่สาม 190 ยูโร บุตรคนที่ 4 และคนถัดไป คนละ 215 ยูโร เบี้ยเลี้ยงสำหรับบุตรจะจ่ายให้กับเด็กทุกคนโดยไม่คำนึงถึงรายได้ของพ่อแม่ และยังมีระบบลดหย่อนภาษีสำหรับครอบครัว นั่นคือตัวอย่างหนึ่งทำให้คนวัยทำงานสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะรู้ว่าจะได้รับสวัสดิการตอบแทนอย่างเหมาะสมด้วยเช่นกัน
เห็นแบบนี้แล้ว ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมประเทศที่พัฒนาแบบนี้ ถึงยังเติบโตได้แบบไม่มีวันหยุด
หรือจะเป็นแค่เรื่องของเส้นผมบังภูเขา แต่ชนชาติเรามิไม่แคร์ ก็เลยไม่เจริญกระมัง…
Advertising