ชัยนาท…จากอารยธรรมทวารวดี สู่มรดกลุ่มเจ้าพระยา

วันนี้มาเที่ยว ที่จังหวัด ชัยนาท เมืองแห่งอารยธรรมทวารวดี ในบางแง่มุมที่คุณอาจไม่เคยรู้
ชัยนาท เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานการขุดพบภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนกำไลหิน ลูกปัดและโครงกระดูกมนุษย์ ตลอดจนโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ แสดงถึงอารยธรรมทวารวดี ลพบุรี กระจายอยู่ตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำท่าจีน และลุ่มแม่น้ำน้อย
ชื่อจังหวัดชัยนาท มีความหมายว่า ‘ชัยชนะที่มีเสียงบันลือ’ เคยใช้เป็นที่ตั้งทัพรับศึกหลายครั้ง และมีชัยทุกครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อเมือง ปัจจุบันชัยนาทมีชื่อเสียงด้านสินค้าหัตถกรรม การจักสาน การปั้น การทอ การทำเครื่องเบญจรงค์ฝีมือประณีต รูปแบบทันสมัย มีตลาดการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เริ่มที่การเยือน บ้านเนินขาม จังหวัดชัยนาท มีชุมชนเชื้อสายชาวลาวจากเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ที่ถูกกองทัพสยามกวาดต้อนครัวเรือนเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเรื่อยมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
แม้กาลเวลาจะผ่านไปกว่า 200 ปี แต่ชุมชนชาวลาวเหล่านี้ยังคงสืบทอดประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และชาติพันธุ์ของตนเอาไว้ได้หลายอย่างจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น การทอผ้า การแต่งกาย อาหารการกิน การฟ้อนรำ ตลอดจนภูมิปัญญาด้านสมุนไพร และนำไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน
สินค้าของกลุ่มทอผ้าบ้านเนินขามมีหลากหลาย เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ สไบ ผ้าซิ่น ผ้าถุง หมอน ฯลฯ ราคาจำหน่ายมีตั้งแต่ชิ้นละ 200-30,000 บาท และที่ราคาแพงที่สุด คือผ้าทอยกดอกสีคราม ราคาผืนละ 100,000 บาท เนื่องจากเป็นงานที่ประณีต ลวดลายงดงาม ทางกลุ่มจะมีสินค้าผ้าทอต่างๆ วางจำหน่ายที่ ‘ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองลาวเวียงบ้านเนินขาม’
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีพื้นที่กว่า 33 ไร่ เป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดและวิธีปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร ห่างจากเขื่อนเจ้าพระยา 4 กิโลเมตร
เขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่อำเภอสรรพยา เป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อการเพาะปลูกสำหรับพื้นที่ราบภาคกลาง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ จะมีฝูงนกเป็ดน้ำนับหมื่นตัวมาหาอาหารบริเวณเหนือเขื่อน เขื่อนนี้ใช้ประโยชน์ทางด้านการชลประทาน การทดน้ำเพื่อการเกษตร การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ โดยระบายน้ำจากแม่น้ำในภาคเหนือสู่ภาคกลางและอ่าวไทย และยังผลิตไฟฟ้าใช้ภายในจังหวัดด้วย
มาถึงสรรพยาแล้วต้องแวะ ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีอาคารโรงพักของตำรวจ สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี และถือว่าเก่าแก่สุดในประเทศ โดยปัจจุบันจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวได้เข้าชมและศึกษา อาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2444 หรือเมื่อ 115 ปีที่แล้ว
เดินเล่นในตลาดเก่าสรรพยาแวะถ่ายรูปกับ Street art เก๋ๆ ที่มีหลายรูปในย่านนี้ แล้วแวะไหว้พระที่วัดสรรพยา
มาชัยนาททั้งทีต้องชิม ส้มโอชัยนาท ส้มโอที่มีชื่อของชัยนาทคือ พันธุ์ขาวแตงกวา ซึ่งจะมีผลกลม ผิวเรียบ เปลือกบาง รสไม่หวานมาก แต่กรอบอมเปรี้ยวนิดๆ
พลาดไม่ได้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า (วัดหลวงปู่ศุข) ที่เรียกว่า วัดปากคลองมะขามเฒ่า เนื่องจากเดิมมีต้นมะขามเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัด วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มีทิวทัศน์ที่สวยงามน่ารื่นรมย์ และมีชื่อเสียงด้านพระเครื่องด้วยหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงปู่ศุขเป็นเกจิอาจารย์ที่ประชาชนทั่วไปต่างเลื่อมใสศรัทธาท่านในด้านความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยตำนานที่ยังเล่าขานกันสืบมาในเรื่องของวิชาอาคมและเครื่องรางของขลัง
วัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีโบราณสถานสำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา ห่างจากตัวเมือง 23 กิโลเมตร ภายในวัดมีองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมแบบละโว้ทรงสูงผสมกับเจดีย์ทวารวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลอดท้องไม้เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยผสมกับสมัยศรีวิชัย ซึ่ง น.ณ ปากน้ำ นักโบราณคดีให้คำนิยามว่า
เป็นเจดีย์ที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในประเทศไทย เป็นราชินีแห่ง เจดีย์ทั้งมวลในเอเชียอาคเนย์’
ลองมาชัยนาทสักครั้ง แล้วคุณจะรักชัยนาท
Advertising